วัคซีนที่แนะนำสำหรับผู้สูงวัย
วัคซีนผู้สูงวัย

วัคซีนสำหรับผู้สูงวัย มีประโยชน์ คือ ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ปกป้องผู้สูงวัยจากความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อ ลดอัตราการป่วย และ ลดอัตราการเสียชีวิตที่เกิดจากการติดเชื้อ โรคที่แนะนำให้ฉีดวัคซีน เป็นโรคที่ผู้สูงวัยเป็นแล้วมีความรุนแรง เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ และปอดบวม ซึ่งทั้งสองโรค เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตที่พบบ่อยในผู้สูงวัย ส่วนโรคงูสวัดนั้นแม้อาจไม่ถึงชีวิต แต่ทำให้เกิดความเจ็บปวดทรมานจากโรคแทรกซ้อน จึงควรรับวัคซีน

วัคซีน 3 ชนิดที่ผู้สูงวัยควรรับการฉีด

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ฉีดปีละ 1 ครั้ง ทุกๆปี
วัคซีนที่ใช้ในประเทศไทยเพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ประจำปี (seasonal influenza) เป็นชนิดinactivated influenza vaccine ซึ่งมี 2 ชนิด คือ

วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ชนิด 3 สายพันธุ์ประกอบด้วย influenza A(H1N1), influenza A(H3N2) และ influenza B โดยมีขนาด 15 ไมโครกรัม ต่อ 1 สายพันธุ์ใน 1 หลอด และวัคซีน inactivated influenza vaccine

ชนิด 4 สายพันธุ์ประกอบด้วย influenza A(H1N1), influenza A(H3N2) และ influenza B 2 สายพันธุ์ซึ่งพบว่าผลของการกระตุ้น ภูมิคุ้มกันโรคและผลข้างเคียงไม่แตกต่างจากการฉีดวัคซีนชนิดแบบ 3 สายพันธุ์ แต่ครอบคลุมการติดเชื้อ influenza B virus ได้มากขึ้น การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามชนิดของไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่คาดว่าจะระบาดในปี นั้น (seasonal influenza) และในประเทศไทยพบการระบาดของโรคได้ทั้งปี แต่พบได้มากขึ้นในช่วงฤดูฝนและช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ดังนั้นจึงต้องฉีดวัคซีนทุกปี แม้จะเป็นสายพันธุ์เดิมของวัคซีนที่เคยฉีดก่อนหน้านี้ วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่ใช้ไม่สามารถป้องกันไข้หวัดนก (avian influenza) หรือ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ (เช่น สายพันธุ์ H7N9 ฯลฯ) ได้ การให้วัคซีน inactivate influenza vaccine แนะนำให้ฉีดเข้ากล้ามบริเวณต้นแขนและต้องฉีดวัคซีน 1 เข็มทุกปี ไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่เพาะแยกได้ในประเทศไทยคล้ายกับสายพันธุ์ของซีกโลกใต้มากกว่าทางซีกโลกเหนือ แต่ถือว่าสามารถใช้วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทั้งของซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ฉีดป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยได้ วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ไม่ควรให้แก่ผู้ที่มีประวัติแพ้ไข่รุนแรงหรือผู้ที่มีประวัติเป็น Guillain–Barré syndrome มาก่อน) สามารถให้วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ร่วมกับวัคซีนอื่นๆได้ในเวลาเดียวกันเช่น วัคซีนป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัส (pneumococcal vaccine), วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด(zoster vaccine) โดยการฉีดวัคซีนคนละข้างของต้นแขน

วัคซีนงูสวัด ฉีดครั้งเดียว

โรคงูสวัดพบอุบัติการณ์มากขึ้นตามอายุโดยเฉพาะเมื่ออายุมากกว่า 50 ปี ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยได้แก่ ภาวะ post-herpetic neuralgia (PHN) พบได้ประมาณร้อยละ 10 - 15 ผู้ที่เป็นจะมีอาการปวดตามตำแหน่งที่แขนงของเส้นประสาท เช่น ตามลำตัว แขน หรือ ขา มักเป็นซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย อาการปวดจะรุนแรง และ มักไม่ดีขึ้นโดยยาแก้ปวดทั่วไป บางครั้งอาจต้องพบวิสัญญีแพทย์ที่ต้องใช้วิธีฉีดยาชาที่เส้นประสาทในการบรรเทาอาการ เราพบอุบัติการณ์ การเกิดภาวะ PNH บ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้นในผู้สูงอายุ วัคซีนป้องกันโรคงูสวัดที่จำหน่ายในประเทศไทยมีเพียงชนิดเดียวซึ่งทำจากเชื้อที่มีชีวิตสายพันธุ์ Oka นำมาทาให้อ่อนฤทธิ์ (live attenuated vaccine) แนะนำให้ฉีดวัคซีนโดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังจำนวน 1 เข็มครั้งเดียว พบว่าวัคซีนสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคงูสวัดได้ร้อยละ 51.3 ในช่วง 3 ปี ภายหลังได้รับวัคซีนและจะได้ประโยชน์สูงสุดในผู้รับการฉีดวัคซีนที่มีช่วงอายุ 60 – 69 ปี และแม้ว่าผู้ที่รับวัคซีนจะมีงูสวัดเกิดขึ้นก็พบว่าสามารถป้องกันการเกิดภาวะ PHN ได้ร้อยละ 66.5 เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนที่เป็นงูสวัด อย่างไรก็ตามประสิทธิภาพในการป้องกันโรคงูสวัดของวัคซีนจะค่อยๆลดลงเมื่อให้วัคซีนในผู้ที่อายุมากกว่า 69 ปี และพบว่าประสิทธิภาพในการป้องกันโรคงูสวัดของวัคซีนลดลงเหลือเพียงร้อยละ 31 ภายหลังได้รับวัคซีนมานานกว่า 8 ปี และการป้องกันการเกิดภาวะ PHN ก็ลดลงเช่นกัน ดังนั้น ในอนาคตอาจมีความจำเป็นต้องให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นภายหลังการฉีดวัคซีนเข็มแรก วัคซีนป้องกันโรคงูสวัดสามารถให้ในผู้สูงอายุได้โดยไม่ต้องคำนึงว่าเคยเป็นงูสวัดหรืออีสุกอีใสมาก่อนหรือไม่ เราสามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดร่วมกับวัคซีนอื่นๆที่ให้แก่ผู้สูงอายุได้ในเวลาเดียวกัน เช่น วัคซีนป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัส วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ โดยฉีดวัคซีนคนละข้างของต้นแขน

วัคซีนป้องกันโรคปอดปวม ไอพีดี ชนิด 23 สายพันธุ์ (ุ65 ปีขึ้นไป ฉีดครั้งเดียว)

ข้อบ่งชี้ของการใช้ 23-valent pneumococcal polysaccharide vaccine (PPV-23) คือ บุคคลที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหรือเมื่อเกิดการติดเชื้อนิวโมคอคคัส (Streptococcus pneumoniae) อาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ได้แก่

บุคคลที่มีอายุมากกว่า 65 ปี (พบว่าวัคซีน PPV-23 สามารถป้องกันการติดเชื้อ invasive pneumococcal infections โดยเฉพาะ pneumococcal bacteremia ได้
ในผู้สูงอายุแต่พบว่าไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อ non-bacteremic pneumococcal pneumonia หรือการติดเชื้อนิวโมคอคคัส ที่เป็น non-vaccine serotypes ได้),

บุคคลที่มีอายุ 2 ปี - 65 ปี ที่มีภาวะไม่มีม้ามหรือม้ามทำงานบกพร่อง (anatomic or functional asplenia),

ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ได้แก่โรคเบาหวานที่มีการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ดี โรคหัวใจวาย cardiomyopathy, โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD), โรคตับแข็ง โรคไตวายเรื้อรัง ผู้ป่วยที่มีการรั่วของน้ำไขสันหลัง ผู้ป่วยโรคหอบหืดผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ บุคคลที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องรุนแรง (severe immunosuppressive state) และ ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะหรือไขกระดูก (พบว่าการตอบสนองของการสร้าง ภูมิคุ้มกันอาจไม่ได้ผลดีในกลุ่มประชากรที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องรุนแรง)

พิจารณาให้ฉีดวัคซีนชนิดโพลีแซคคาไรด์ (PPV-23) ซ้ำอีก 1 ครั้ง (re-vaccination) หลังจากการฉีด PPV-23 เข็มแรก 5 ปี ในกรณีผู้ป่วยที่ไม่มีม้าม

หรือพิจารณาฉีดวัคซีน PPV-23 ซ้ำในผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ที่เคยได้รับวัคซีน PPV-23 เข็มแรกก่อนอายุ 65 ปี

อย่างไรก็ตามไม่มีข้อมูลการศึกษาถึงประสิทธิภาพของการป้องกันโรคและระยะเวลาในการป้องกันโรคจากการฉีดวัคซีน PPV-23 ซ้ำ ปัจจุบันยังไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนชนิด PPV-23 มากกว่า 2 ครั้ง

พบว่าอาการข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนที่พบได้บ่อยเป็นอาการข้างเคียงเฉพาะที่ตรงตำแหน่งที่ฉีดวัคซีน (ร้อยละ 30-50) เช่น อาการบวม แดง เจ็บในตำแหน่งที่ฉีดหรือมีไข้ และพบว่าอาการข้างเคียงพบได้บ่อยขึ้นในการฉีดวัคซีนชนิด PPV-23 ซ้ำ

แนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นโดยใช้วัคซีนชนิดคอนจูเกต (13-valent pneumococcal conjugate vaccine:PCV-13)ภายหลังการได้รับวัคซีนชนิดโพลีแซคคาไรด์ (PPV-23) แก่ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องเพื่อให้มีการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อก่อโรคนิวโมคอคคัสสูงมากขึ้น แต่ต้องฉีดวัคซีนชนิดคอนจูเกต ภายหลังจากการได้รับวัคซีนชนิดโพลีแซคคาไรด์ (PPV-23) ไม่น้อยกว่า 1 ปี

Reference : https://www.idthai.org/Contents/Views/?d=ZTue!17!4!!390!BiuJHPad

ตารางราคาวัคซีน และ ข้อแนะนำ