สรุปวัคซีนสำหรับผู้สูงวัย 2025

สรุปวัคซีนสำหรับผู้สูงวัย 2025

วันที่ 23 มกราคม 2568 

ศ.พญ. กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ

ได้รับคำถามเกี่ยวกับวัคซีนที่รุ่นพี่ๆ สว น่าจะต้องฉีด แต่ก็ไม่อยากฉีดแล้ว ยังจะต้องฉีดอีกหรือ แถมบางท่านก็ได้รับ ข้อมูลไม่ค่อยดีเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนเกิดความกังวลใจเป็นอย่างยิ่ง จึงขอมาอัพเดทเกี่ยวกับวัคซีนสำหรับสูงวัย 

วัคซีนทุกตัวในทุกประเทศที่คณะกรรมการอาหารและยา (อย) ได้อนุมัติให้ใช้ ถือว่าต้องมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยในระดับที่ยอมรับได้ แต่ทุกตัวก็มีโอกาสทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้บ้าง แต่อาการไม่พึงประสงค์เช่นแพ้อย่างรุนแรงจะต้องมีน้อยมาก โดยทั่วไปจะมีสัดส่วนหนึ่งต่อหลายแสนโดส การตัดสินใจว่าควรรับวัคซีนหรือไม่นั้นจำเป็นต้องชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ที่พึงได้ จากการป้องกันโรคหรือภาวะแทรกซ้อนจากโรค กับผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน รวมทั้งราคาที่ต้องจ่าย ผู้สูงวัยถือว่าเป็นกลุ่มเปราะบางเสี่ยงโรครุนแรง จึงมีความคุ้มค่าในการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคมากกว่ากลุ่มอื่น

  วัคซีนที่ผู้สูงวัยควรฉีดแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มที่ต้องฉีดทุกปี (ไข้หวัดใหญ่และโควิด)กลุ่มที่ต้องฉีดกระตุ้นเป็นระยะห่างหลายปี (คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน) และกลุ่มที่ไม่แนะนำว่าต้องฉีดกระตุ้นอีก (นิวโมคอคคัส งูสวัด ไข้เลือดออก อาร์เอสวี)

1.กลุ่มแรก ฉีดทุกปี มี 2 ตัวคือ วัคซีนไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 

วัคซีนตัวแรกที่อยากกล่าวถึง คือไข้หวัดใหญ่ซึ่งขณะนี้มีชนิด hi-dose ที่มีปริมาณแอนติเจนสูงขึ้นสี่เท่าเมื่อเทียบกับวัคซีนปกติเป็นผลทำให้กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงขึ้นกว่า มีประสิทธิภาพสูงกว่า วัคซีนขนาดปกติโดยที่ยังมีความปลอดภัยและอาการข้างเคียง ไม่ต่างจากเดิม แนะนำให้ใช้ในผู้สูงวัยที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ทั้งนี้เพราะผู้ทีอายุมากๆมักจะตอบสนองต่อวัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดปกติไม่ดีเท่า คนอายุน้อย ถือว่าเป็นวัคซีนที่น่าสนใจเพราะมีความปลอดภัยสูงแถมยังเบิกได้ในสิทธิ์ กรมบัญชีกลางในบางโรงพยาบาลด้วย และจะมีการอัพเดทสายพันธุ์ โดยของซีกโลกใต้ที่อัพเดทจะมาเริ่มจำหน่ายประมาณเดือนมีนาคม จึงแนะนำให้ผู้สูงวัย โดยเฉพาะที่มีโรค ประจำตัวเยอะเยอะ ให้ไปฉีดสายพันธุ์อัพเดทกันนะคะ ฉีดก่อนก็ได้ป้องกันก่อนค่ะ จะฉีดแบบโดสสูงหรือแบบธรรมดาก็ดีกว่าไม่ฉีดค่ะ เพราะไข้หวัดใหญ่ นอกจากจะทำให้ป่วยไข้ อาการเพลียมาก ยังเป็นสาเหตุของภาวะแทรกซ้อนต่างๆที่จะตามมา ซึ่งอาจรุนแรง เป็นปอดอักเสบ จนถึง strokeได้เลย ผู้เขียนเองก็ได้ฉีดปีละครั้ง ให้ตนเองและสมาชิกในบ้าน ช่วงก่อนหน้าฝนเช่นกันค่ะ

วัคซีนตัวที่สอง คือวัคซีนโควิด ปีนี้มีแต่วัคซีนmRNA ของไฟเซอร์และไม่ฟรี หาฉีดได้ตามโรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลของรัฐขนาดใหญ่ รุ่นนี้ก็เป็นสายพันธุ์อัพเดทประจำปี JN.1 ซึ่งมีจำหน่าย ในยุโรปและอเมริกามาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว แต่เพิ่งจะนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยในเดือนนี้เอง โควิดยังคงมีความร้ายกาจในผู้ที่มีความเสี่ยง สูงวัย มีโรคประจำตัว608 และเด็กเล็ก แม้วัคซีนจะมีอาการข้างเคียงแต่ก็ปลอดภัยนะคะ ข่าวเกี่ยวกับการพบ ปรากฏการณ์ต่างๆในผู้เสียชีวิตแล้วบอกว่าเป็นผลจากวัคซีนนั้นล้วนเป็นข่าวเท็จ สำหรับคนที่แข็งแรงดีทั่วไป อาจไม่จำเป็นต้องฉีดเพราะมีภูมิคุ้มกันจากละการติดเชื้อที่ผ่านมาทำให้จะป่วยไม่รุนแรง แต่กลุ่มเสี่ยงควรฉีดดีกว่าเสี่ยงต่อโรคที่จะรุนแรงกว่า

2. วัคซีนกลุ่มที่สอง ฉีดกระตุ้นกันเป็นระยะ มีตัวเดียวคือ คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน

ขอแนะนำให้ฉีดซ้ำทุก 10 ปี เพื่อให้จดจำง่ายมักจะแนะนำให้ฉีดเมื่ออายุลงท้ายด้วยเลขศูนย์เช่นอายุ 60 70 80 90 ก็ไปฉีด และถ้ามีเด็กอ่อนในบ้านผู้ใหญ่ทุกคนก็ควรฉีดเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นไอกรนไปติดเด็กเล็กซึ่งจะรุนแรงได้นะคะ

3. วัคซีนกลุ่มที่สาม ยังไม่มีคำแนะนำว่าต้องฉีดกระตุ้น กลุ่มนี้มี 4 ตัวคือ วัคซีนนิวโมคอคคัส งูสวัด ไช้เลือดออก และ อาร์เอสวี (RSV)

  วัคซีนนิวโมคอคคัส (PCV) ป้องกันแบคทีเรียที่มีหลากหลายสายพันธุ์และเป็นสาเหตุหลักของการติดเชื้อในปอดและกระแสเลือดทำให้ผู้สูงวัยมีอาการหนักมากๆได้ ก่อนหน้านี้ PCV มีจำหน่ายแต่เพียงชนิด 13 หรือ 15 สายพันธุ์ ซึ่งหลังจากฉีดแล้วต้องฉีดแบบโพลีแซคคาไรด์ PPSV 23 สายพันธุ์ ซึ่งเป็นวัคซีนโบราณที่มีประสิทธิภาพไม่ดีนักแต่มีความครอบคลุมเชื้อที่กว้างขวาง เมื่อไม่นานมานี้มีวัคซีน PCV20 สายพันธุ์เข้ามาจำหน่ายแล้ว จึงแนะนำให้ ใช้แทน ตัวอื่นๆที่เคยมีทั้งหมดเลย คือใช้ PCV20 เข็มเดียวแล้วไม่ต้อง ฉีดเพิ่มอะไรอีกเลย แนะนำว่าควรฉีดในผู้ที่มีโรค 65 ปีขึ้นไป และกลุ่มเสี่ยง แต่ล่าสุดในประเทศอเมริกาแนะนำว่า ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ก็ควรพิจารณาฉีดวัคซีน PCV20ด้วย มีคำถามว่าคนที่เคยฉีด PCV13/PCV15 และ PPSV23 มาครบแล้ว จำเป็นต้องฉีด PCV20 เพิ่มเติมไหม ขอแนะนำว่า ให้พิจารณาฉีดเพิ่มเติมในผู้สูงวัยที่อยากปกป้องให้ดีขึ้น โดยเฉพาะที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ที่เสี่ยงมากเช่นโรคปอดโรคหัวใจ โรคตับเบาหวานหรือน้ำไขสันหลังรั่ว โดยควรจะฉีดหลังจากฉีดเข็มสุดท้ายอย่างน้อย 5 ปี 

วัคซีนป้องกันงูสวัด แนะนำให้ฉีดสองเข็มห่างกัน 2-6 เดือนค่ะ แม้แต่คนที่เคยเป็นงูสวัดมาแล้วก็ยังควรต้องฉีด โดยห่างจากการเป็นงูสวัดอย่างน้อย 6 เดือน งูสวัดเป็นโรคที่ควรป้องกันเพราะนอกจากจะเจ็บปวดตั้งแต่ช่วงผื่นขึ้นและหลังผื่นหายไปนานแล้ว ยังทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนโรคหลอดเลือดสมอง stroke ได้ด้วย ฉีดได้ตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป ยิ่งสูงอายุมากก็ยิ่งควรฉีดมาก

วัคซีนไข้เลือดออกรุ่นใหม่ ซึ่งเพิ่งจะรับรองให้ฉีดได้ในสูงวัยได้ไม่จำกัดอายุ เรียกว่าเป็นวัคซีนครอบครัว คือควรฉีดตั้งแต่ 4 ขวบขึ้นไปเลย ผู้สูงวัยเป็นไข้เลือดออกไม่บ่อย แต่เมื่อเป็นแล้วจะรุนแรงกว่าเด็ก โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวเช่น อ้วน เบาหวาน โรคไต โรคตับ โรคเรื้อรังต่างๆ ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 3 เดือน ยังไงเราก็หนียุงไม่พ้น การป้องกันจึงดีสุด

และวัคซีนตัวสุดท้ายที่อยากพูดถึงคือ อาร์เอสวี (RSV) เป็นโรคเด็กแต่รุนแรงในสูงวัยแนะนำให้ฉีดเมื่ออายุเกิน 75 ปีขึ้นไป หรือในผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปที่มีโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อโรครุนแรง เช่นโรคปอด หัวใจ โรคเรื้อรังต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ใกล้ชิดกับเด็กเล็ก แนะนำให้ฉีดก่อนเข้าฤดูระบาดคือประมาณเดือนมิถุนายนค่ะ วัคซีนตัวนี้เป็นวัคซีนใหม่ ยังไม่ทราบว่าเมื่อฉีดหนึ่งเข็มแล้วจะมีประสิทธิภาพอยู่ยาวนานเพียงใด ต้องฉีดกระตุ้นไหม แต่ข้อมูลล่าสุดคือยังสามารถป้องกันโรคได้ถึง 3 ปี 

 บทความยาวสักนิด แต่น่าจะได้ประโยชน์นะคะ